บริการประชาชน

บริการประชาชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ค. 2567

| 6,978 view

การจดทะเบียนสมรส

 จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

  • การเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสและ/หรือคำนำหน้าชื่อหลังสมรส
  • การจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมัน

จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

Download :คำร้องนิติกรณ์ขอจดทะเบียนสมรส (คลิกที่นี่)

       การจดทะเบียนสมรสระหว่าง (1) บุคคลสัญชาติไทยหรือต่างชาติ กับ (2) บุคคลสัญชาติเยอรมัน ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทยเท่านั้น ไม่มีผลตามกฎหมายเยอรมัน ดังนั้น กรณีที่ผู้ร้องประสงค์ให้การสมรสกับบุคคลสัญชาติเยอรมันมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายเยอรมัน สามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง ได้แก่

  1. ติดต่อขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่สำนักทะเบียนเยอรมัน (Standesamt)

หรือ

  1. จดทะเบียนสมรส ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอในประเทศไทย แล้วนำเอกสารการสมรสไปรับรองนิติกรณ์ที่กรมการกงสุลหรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสาขาที่เปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์ (โปรดตรวจสอบสาขาที่เปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์ที่ https://consular.mfa.go.th/ --> เลือก "บริการประชาชน" --> เลือก "รับรองนิติกรณ์เอกสาร" --> เลือก "สถานที่ให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสาร") และนำไปแปลเป็นภาษาเยอรมันพร้อมรับรองนิติกรณ์ที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย แล้วจึงนำมาใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเยอรมนีต่อไป

          ** ทะเบียนสมรสที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายเยอรมันข้างต้นจะเป็นเอกสารสำคัญรายการหนึ่งที่ใช้ประกอบการทำธุรกรรมในประเทศเยอรมนี อาทิ การยื่นขอวีซ่าติดตามสามีชาวเยอรมัน และการขอมีถิ่นพำนักถาวรในประเทศเยอรมนี **

 

กรณีที่ประสงค์จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ผู้ยื่นคำร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องยื่นเอกสารเหมือนกัน ดังนี้

  • หนังสือรับรองความเป็นโสดตัวจริง

- ถ้าเคยแต่งงานหรือเคยหย่ามาก่อน ต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสดหลังหย่า หรือถ้าคู่สมรสเสียชีวิต ต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสดว่าหลังคู่สมรสเสียชีวิตแล้วไม่ได้แต่งงานอีก หนังสือรับรองความเป็นโสดนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก

    • ในกรณีหย่ามาก่อน ให้ยื่นสำเนาใบสำคัญการหย่าหรือคำพิพากษาหย่าด้วย 1 ชุด
    • ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต ให้ยื่นสำเนามรณบัตรด้วย 1 ชุด

** ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต และท่านประสงค์จะสมรสใหม่ ท่านต้องขอหนังสือรับรองความเป็นโสดก่อนทำการสมรส โดยในกรณีที่คู่สมรสเป็นชาวเยอรมันและท่านไม่เคยแจ้งการแต่งงานตามกฎหมายเยอรมันต่อทางการไทย ท่านต้องนำทะเบียนสมรสที่สมรสตามกฎหมายเยอรมันดังกล่าวและมรณบัตรไปรับรองที่หน่วยงานที่มีสิทธิรับรองเอกสารของประเทศเยอรมนี แล้วนำไปแปลเป็นภาษาไทยโดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาล (รายละเอียดเอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติม ดูที่คำร้องขอทำหนังสือมอบอำนาจ) จากนั้น ให้นำทะเบียนสมรสและมรณบัตรดังกล่าวไปรับรองนิติกรณ์ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ แล้วจึงนำไปติดต่อที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอในประเทศไทย เพื่อขอออกหนังสือรับรองความเป็นโสด **

- หากคู่สมรสเป็นบุคคลสัญชาติไทย คู่สมรสของท่านต้องติดต่อขอสำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอในประเทศไทยเพื่อขอหนังสือรับรองความเป็นโสด และนำหนังสือดังกล่าวไปรับรองนิติกรณ์ที่กรมการกงสุล (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสาขาที่เปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์ หนังสือรับรองความเป็นโสดนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก

* อนึ่ง หากคู่สมรสสัญชาติไทยไม่มีหนังสือรับรองความเป็นโสด คู่สมรสสัญชาติไทยสามารถเดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ที่ใกล้ที่สุด เพื่อยื่นคำร้องขอหนังสือมอบอำนาจเพื่อมอบอำนาจให้ญาติหรือเพื่อนไปดำเนินการ (1) ขอหนังสือรับรองความเป็นโสดที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอในประเทศไทย และ (2) ขอรับรองนิติกรณ์หนังสือรับรองความเป็นโสดที่กรมการกงสุล (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสาขาที่เปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์

- หากคู่สมรสของท่านเป็นบุคคลสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่เยอรมัน คู่สมรสของท่านต้องนำหนังสือรับรองความเป็นโสดจากประเทศของตน ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ (หากต้นฉบับไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) และรับรองนิติกรณ์จากหน่วยงานที่มีอำนาจในประเทศนั้น ๆ เสียก่อน จากนั้น จึงนำไปให้สถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศนั้น ๆ รับรองเอกสารและคำแปล หลังจากนั้น นำเอกสารข้างต้นมาใช้เป็นเอกสารประกอบการจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หนังสือรับรองความเป็นโสดนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก

- หากคู่สมรสของท่านเป็นบุคคลสัญชาติเยอรมัน คู่สมรสของท่านต้องนำหนังสือรับรองความเป็นโสดจาก Standesamt ไปรับรองรับรองนิติกรณ์ (Legalisierung) ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเยอรมันเสียก่อน จากนั้น นำเอกสารไปแปลเป็นภาษาไทยโดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมันรับรอง แล้วจึงนำมารับรองนิติกรณ์และคำแปลที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน แล้วจึงนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการสมรสที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ต่อไป หนังสือรับรองความเป็นโสดนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง (สำหรับบุคคลสัญชาติไทย)
  • หนังสือเดินทางตัวจริงของทั้งสองฝ่าย พร้อมสำเนา คนละ 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย (สำหรับบุคคลสัญชาติไทย)
  • สำเนาใบแสดงที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) คนละ 1 ชุด
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ แล้วแต่กรณี เช่น ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล เป็นต้น
  • บัตรประจำตัวประชาชนของพยานคนไทย 2 คน พร้อมสำเนาที่รับรองสำเนาถูกต้องแล้วคนละ 1 ชุด ทั้งนี้ พยาน 2 คน ต้องมาลงนามที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วย

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจเอกสารเรียบร้อยแล้วและไม่มีข้อขัดข้องประการใด เจ้าหน้าที่จะนัดหมายให้ท่านเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

  • ภายหลังจดทะเบียนสมรส ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ ผู้ร้องจะได้รับใบสำคัญการสมรสฉบับจริงจากสถานเอกอัครราชทูตฯ คนละ 1 ชุด และหากต้องการสำเนาทะเบียนสมรส สถานเอกอัครราชทูตฯ จะทำการรับรองสำเนาถูกต้องของทะเบียนสมรสให้ โดยมีค่าธรรมเนียม 15 ยูโร/ฉบับ (สถานเอกอัครราชทูตฯ แนะนำให้ทำรับรองสำเนาถูกต้องของทะเบียนสมรสอย่างน้อย 1 ฉบับ)

การเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสและ/หรือคำนำหน้าชื่อหลังสมรส

Download :คำร้องเปลี่ยนนามสกุลและ/หรือคำนำหน้าชื่อหลังสมรส (คลิกที่นี่)

  • หญิงไทยสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนฐานะทางครอบครัวหลังการสมรส เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก “นางสาว” เป็น “นาง” และ/หรือขอเปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรสได้ตามกฎหมายไทย (พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548)
  • ถ้าท่านเคยสมรสหรือหย่าตามกฎหมายเยอรมัน หรือตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ท่านต้องแจ้งให้สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่เมืองไทยทราบด้วย เพื่อไปยื่นเรื่องขอลงรายการในทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (คร.22) ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ตนมีถิ่นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และเพื่อแก้ไขนามสกุลและคำนำหน้านามให้ถูกต้องตามสถานภาพการสมรสของท่าน
    • ถ้าเคยสมรสและหย่าตามกฎหมายเยอรมัน
  • ขอทะเบียนสมรสจาก Standesamt ที่ตนได้ทำการสมรส และคำพิพากษาหย่า ไปรับรองนิติกรณ์ (Legalisierung) ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเยอรมัน (หากไม่ทราบว่าที่ใด สามารถสอบถามสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้)
  • นำทะเบียนสมรสและคำพิพากษาหย่าที่ได้รับการรับรองนิติกรณ์แล้วไปแปลเป็นภาษาไทยโดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาล
  • นำเอกสารดังกล่าวมารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสามารถส่งคำร้องขอนิติกรณ์เอกสารพร้อมเอกสารข้างต้นและหลักฐานการโอนเงินค่าธรรมเนียมมาทางไปรษณีย์ที่

Royal Thai Embassy,
Lepsiusstrasse 64/66,
12163 Berlin
หมายเลขบัญชีสำหรับการโอนเงินค่าธรรมเนียมคือ
Royal Thai Embassy
Deutsche Bank
Kontonummer 419205000700
BLZ 10070000

  • นำเอกสารไปทำการรับรองนิติกรณ์ที่กรมการกงสุล (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสาขาที่เปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์
  • ไปยื่นขอทำ คร.22 ที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ ขอแก้ไขชื่อและคำนำหน้าในทำเบียนราษฎรให้ถูกต้องตามสถานภาพสมรสปัจจุบัน

* หากท่านไม่สามารถไปดำเนินการตามข้อ 4 และ 5 ด้วยตนเองได้ ท่านสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่น (ญาติ หรือเพื่อน) ไปดำเนินการแทนได้ กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มได้ในส่วนหนังสือมอบอำนาจ

  • หน่วยงานที่มีสิทธิรับรองนิติกรณ์เอกสาร (Legalisierung) ของประเทศเยอรมนีมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านไม่ทราบว่าจะนำทะเบียนสมรสไปทำ Legalisierung ที่ไหน ให้สอบถามสำนักทะเบียนที่ออกเอกสารให้ท่าน หรือสอบถามหน่วยงานปกครองของเมืองที่ท่านพำนักอยู่ (Stadtverwaltung) หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ

การแจ้งบันทึกฐานะแห่งครอบครัว (คร.22) และเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย 

* ตามกฎหมายไทย บุคคลสัญชาติไทยเมื่อสมรสหรือหย่าแล้วในต่างประเทศต้องแจ้งบันทึกฐานะแห่งครอบครัว ณ สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอที่ตนมีชื่ออยู่

  1. นำทะเบียนสมรสที่รับรองนิติกรณ์ (Legalisierung) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเยอรมันแล้วไปให้ล่ามที่มีใบอนุญาตจากศาลเยอรมันแปลเป็นภาษาไทย และมอบสำเนาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านและสูติบัตรไทยให้ล่ามด้วย 1 ชุด เพื่อให้ล่ามแปลชื่อ-นามสกุลของท่านให้ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ล่ามต้องเย็บคำแปลภาษาไทยและต้นฉบับภาษาเยอรมันเข้าด้วยกัน เป็น 1 ชุด พร้อมประทับตราและลงลายมือชื่อรับรองการแปลด้วย
  2. นำทะเบียนสมรสและคำแปล (เอกสารในข้อ 1) มารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ (ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร/ตราประทับ)
  3. นำทะเบียนสมรสและคำแปล (เอกสารในข้อ 2) ที่รับรองมาจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปรับรองครั้งสุดท้ายที่
    กองสัญชาติและนิติกรณ์
    กรมการกงสุล
    กระทรวงการต่างประเทศ
    ถนนแจ้งวัฒนะ
    เขตหลักสี่
    กรุงเทพ ฯ
    10210
    โทร. 02-575-1056-59,
    แฟกซ์ 02-575-1054

หรือที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสาขาที่เปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสาร

  1. นำทะเบียนสมรสและคำแปลที่รับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ (เอกสารในข้อ 3) ไปแจ้งนายทะเบียนที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอในประเทศไทยที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้ลงรายการในทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและ/หรือเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านภายหลังการสมรสต่อไป หลังจากนั้น จึงไปติดต่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่

* หน่วยงานที่มีสิทธิรับรองนิติกรณ์เอกสาร (Legalisierung) ของประเทศเยอรมนีมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านไม่ทราบว่าจะนำทะเบียนสมรสไปทำ Legalisierung ที่ไหน ให้สอบถามสำนักทะเบียนที่ออกเอกสารให้ท่าน หรือสอบถามหน่วยงานปกครองของเมืองที่ท่านพำนักอยู่ (Stadtverwaltung) หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ

การจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมัน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ขอแจ้งให้ทราบว่า กฎหมายไทยยังไม่ยอมรับการจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมัน

บุคคลสัญชาติไทยที่ได้จดทะเบียนกับบุคคลเพศเดียวกันจึงไม่สามารถแจ้งการจดทะเบียนดังกล่าวต่อหน่วยงานราชการไทยได้เช่น ไม่สามารถมายื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุลตามคู่สมรสที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันได้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอแนะนำให้ท่านที่วางแผนจะจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมันเลือกใช้นามสกุลเดิมของตนเป็น “นามสกุลหลังการจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการเปลี่ยนนามสกุล