5,103 view

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เยอรมนี

          ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีดำเนินมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัฐอิสระของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อไทยได้จัดทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือกับ 3 รัฐอิสระของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between the Kingdom of Siam and the Hanseatic Republics) ซึ่งได้แก่ ลือเบค (Lübeck) เบรเมน (Bremen) และฮัมบูร์ก (Hamburg) ในปี พ.ศ. 2401 และปี พ.ศ. 2551 นับเป็นวาระครบรอบ 150 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

          เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนี โดยการจัดทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Amity, Commerce and Navigation with Prussia, in the name of the German Customs and Commercial Union) หรือสนธิสัญญาออยเลนบวร์ก ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้ากับตัวแทนของเยอรมนีในขณะนั้น คือ แคว้นปรัสเซีย และไทยได้เริ่มดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต (ปี พ.ศ. 2426 – 2498) เป็นครั้งแรก ซึ่งในระยะแรกมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย เป็นอัครราชทูต และต่อมาในปี พ.ศ. 2430 จึงได้จัดตั้งสถานอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เป็นครั้งแรก โดยพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (พระมหาโยธา หรือ นกแก้ว คชเสนี) เป็นอัครราชทูต

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีได้แบ่งเป็นเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก ไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต โดยได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ มีเขตอาณาครอบคลุมเยอรมนีตะวันตก และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน มีเขตอาณาครอบคลุมเยอรมนีตะวันออก โดยมีหลวงชำนาญนิติเกษตร (อุทัย แสงมณี) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ เป็นคนแรก

          เมื่อเยอรมนีได้รวมประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและย้ายที่ทำการของรัฐสภาและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจากกรุงบอนน์ไปยังกรุงเบอร์ลิน ไทยได้ย้ายสถานเอกอัครราชทูตจากกรุงบอนน์ไปยังกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542 และนายกษิต ภิรมย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ ในขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน คนแรกภายหลังการรวมประเทศของเยอรมนี สำหรับที่ทำการเดิมที่กรุงบอนน์ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุงบอนน์ขึ้น ซึ่งได้ปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และไทยได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 โดย น.ส.วารุกาญจน์ เกียรติวัฒนกุล ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตเป็นคนแรก และ ครม.มีมติให้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยมีนายพินเทพ เทวกุล ณ อยุธยา เป็นกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก นอกจากนี้ ไทยได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ 4 แห่งในเยอรมนี ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ เมืองดึสเซลดอร์ฟ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองชตุทท์การ์ท และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์  ณ นครฮัมบูร์ก ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมิวนิกได้ปิดทำการถาวรเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

          ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เยอรมัน ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองมากมาย รวมทั้งได้มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย – เยอรมันหลายฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่บันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน อาทิ

          – หนังสือ “Graf Friedrich zu Eulenburg über seine Reise nach Siam” (การเดินทางสู่สยามของท่านเค้าท์ฟรีดริช ออยเลนบวร์ก) โดยอาจารย์อำภา โอตระกูล ซึ่งได้แปลจดหมายของเค้าท์ออยเลนบวร์กเป็นภาษาไทยและเผยแพร่โดยมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน

          – หนังสือ “SAWASDEE” เรียบเรียงโดยนาย Andreas Stoffers จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Rosenheim และได้มีการเปิดตัวหนังสือในงานสัมมนาของสมาคมเยอรมัน ไทย (Deutsch-Thailändische Gesellschaft e.V.)

          – หนังสือ “Deutschland und Thailand – 150 Jahre Diplomatie und Völkerfreundschaft” เขียนโดยศาสตราจารย์ Volker Grabowsky มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก

          – หนังสือ “มหัศจรรย์แห่งเยอรมนี 60 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง” “150 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี” และ “Festschrift 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี อดีต-ปัจจุบัน-มุ่งสู่อนาคต” เล่มที่ 1 และ 2 จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศและ ดร.พรสรรค์ วัฒนางกูร เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมิวนิก

          – หนังสือ 150 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-เยอรมัน : การทหาร จัดทำโดย น.อ. มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศและรักษาราชการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารไทยประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

          ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนีได้เป็นไปอย่างฉันท์มิตรและตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศมาโดยตลอด ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระดับพระราชวงศ์มีส่วนเกื้อหนุนให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศมีความแน่นแฟ้นอย่างยิ่ง (โปรดดูรายละเอียดที่ความสัมพันธ์ทางการเมือง) (หมายเหตุ กดที่ตัวเอียงจะลิงค์ไปที่ ความสัมพันธ์ทางการเมือง)

รายพระนามและรายนามอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน