งานแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๔

งานแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2565

| 310 view

               เมื่อวันที่ ๓๐ ส.ค. ๒๕๖๕ สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติและแสดงความยินดี แก่ ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลาเกอร์ (Professor Dr. Ralf F.W. Bartenschlager) และ ศ. ดร.กอตอลิน กอริโก (Professor Dr. Katalin Karikó) ซึ่งเป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และ พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามลำดับ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
               โดยผลงานที่โดดเด่นของ ศ. ดร. บาร์เทนชลาเกอร์ หัวหน้าภาควิชา Infectious Diseases, Molecular Virology ม. Heidelberg คือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus) อันนำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัส DAA ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ ปลอดภัย สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังให้หายได้ถึงร้อยละ 95 สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก
               ในขณะที่ ผลงานที่โดดเด่นของ ศ. ดร. กอริโก รองประธานอาวุโสของ บ. BioNTech คือการคิดค้นร่วมกับ ศ.ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ในการค้นพบวิธีการในการทำ mRNA ที่มีซูโดยูริดีนให้บริสุทธิ์ อันเป็นรากฐานสำคัญในการนำมาพัฒนาวัคซีน mRNA ต้านโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองการแพร่ระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
               ในงานมีการฉายวีดิทัศน์แนะนำรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลและพิธีรับพระราชทานรางวัลของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองที่กรุงเทพฯ และนิทรรศการในรูปแบบดิจิทัลเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยประธาน Paul Ehrlich Institute เอกอัครราชทูตและผู้แทนคณะทูตในกรุงเบอร์ลิน ผู้แทนรัฐบาลของสหพันธ์ฯ ภาคธุรกิจ นายแพทย์และนักศึกษาไทยที่เกี่ยวข้อง และทีมประเทศไทย ให้เกียรติเข้าร่วมงาน ซึ่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้กล่าวเน้นย้ำที่มาและความสำคัญของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และได้แสดงความชื่นชม ศ. ดร. บาร์เทนชลาเกอร์ และศ. ดร. กอริโก ที่ได้อุทิศตนจนผลงานวิจัยนำมาสู่การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี และการพัฒนาวัคซีน mRNA ต้านโควิด-19 ที่รวดเร็ว
               ในการนี้ ศ. ดร. บาร์เทนชลาเกอร์ และ ศ. ดร. กอริโก ได้แสดงความประทับใจต่อการได้รับพระราชทานรางวัลฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทั้งสองท่านได้แต่งกายด้วยชุดเดียวกับที่เข้าเฝ้าฯ ที่กรุงเทพฯ และให้ข้อคิดแก่ผู้เข้าร่วมงานที่สอดคล้องกันว่า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเพียรพยายาม ความอดทน และการเชื่อมั่นในตนเอง
               โดย ศ. ดร. บาร์เทนชลาเกอร์ ย้ำถึงความสำคัญของการวิจัย คือ การศึกษาและเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างถ่องแท้ ความร่วมมือในทุกระดับ และ การสนับสนุนจากรัฐบาลและความมุ่งมั่นทางการเมือง ในขณะที่ ศ. ดร. กอริโก ได้แบ่งปันประสบการณ์ 40 ปี ที่ไม่เคยได้รับทุนวิจัยในเรื่อง mRNA แต่ตนไม่ละความพยายาม เปลี่ยนความกดดันเชิงลบให้เป็นแรงผลักดันเชิงบวก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การตัดสินใจ” ของเราในการก้าวต่อไปเมื่อพบอุปสรรคหรือความผิดพลาด
               รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นรางวัลนานาชาติ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อดำเนินการมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถวายเป็นพระราชอนุสรณ์ และเพื่อเผยแพร่พระราชเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย” และ มอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ โดยรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นด้านสุขภาพระดับโลกและสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้ทำงานเพื่อสังคม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ