การบรรยายจากผ้าไทยสู่สายตาชาวเยอรมัน การบรรยายและการแสดงทัศนะของ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

การบรรยายจากผ้าไทยสู่สายตาชาวเยอรมัน การบรรยายและการแสดงทัศนะของ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 มี.ค. 2567

| 229 view

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ร่วมกับสมาคมศิลปะอินโด-เอเชียน เบอร์ลิน (The Society for Indo- Asian Art Berlin-GIAK) จัดการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับชุดไทยและผ้าไทยโดยได้เรียนเชิญ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยในหลากหลายแขนงเป็นผู้บรรยาย 

การบรรยายครั้งนี้ จัดขึ้นที่ Humboldt Forum โดยมีนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน Prof. Dr. Felix Gross ประธานสมาคม GIAK  ตลอดจนคณะทูต อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบแฟชั่น นักศึกษาไทยศึกษาในสหพันธ์ฯ ชาวเยอรมันและชาวต่างชาติในกรุงเบอร์ลินเข้าร่วม กว่า ๖๐ คน การบรรยายในครั้งนี้ เป็นหัวข้อที่ต่อเนื่องกับการบรรยายเรื่องชุดแต่งกายโขน พระ-นาง โดย ผศ. ดร. สุรัตน์ จงดา อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา

ผศ.ดร. อนุชาฯ ได้บรรยายในหัวข้อจากชุดไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม โดยได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแต่งกายในแต่ละสมัย แนวปฏิบัติและงานช่างฝีมือที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาสู่ยุคปัจจุบัน รวมทั้ง อิทธิพลของอารยธรรมภายนอกต่อการแต่งกายของคนไทย การผสมผสานการแต่งกายของไทยกับการแต่งกายของตะวันตกในช่วงจักรวรรดินิยม ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมทั้งพัสตราภรณ์กับการสร้างอัตลักษณ์ไทยในช่วงต่างๆ ตลอดจนแนวความคิดและจุดกำเนิดของชุดไทยพระราชนิยมทั้ง ๘ ชุด ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อการสวมใส่ในงานพิธีหรือในโอกาสต่างๆ  ชุดไทยพระราชนิยมเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของไทย ซึ่งรัฐบาลของไทยอยู่ระหว่างการผลักดันให้บรรจุอยู่ในรายชื่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของ UNESCO

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อนุชาฯ ได้บรรยายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผ้าไทยประเภทต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามในการผลิตผ้าไทยโดยสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเพิ่มมูลค่าของผ้าไทยและอนาคตและโอกาสของผ้าไทยในสังคมต่างประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ