วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๖
ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ มีดังต่อไปนี้
สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นาโปเลโอเน เฟอร์รารา จากอิตาลี/ สหรัฐอเมริกา สำหรับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโปรตีน VEGF ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาบีวาซิซูแมบในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่นและโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ
สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค จากสหรัฐอเมริกา สำหรับการคิดค้นภาพกราฟประดิษฐ์ Rumack–Matthew Nomogram ซึ่งได้ช่วยให้แพทย์ทั่วโลกวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอลเกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน พระราชทานรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัลและด้านการสาธารณสุข ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๖ ทั้งสิ้น ๙๒ ราย จาก ๓๑ ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม ๓ ปี คือ ปี ๒๕๖๕, ๒๕๖๔, ๒๕๖๓ และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยได้กล่าวขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติที่ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้รับพระราชทานรางวัลในปีนี้เป็นเพื่อนร่วมชาติของตน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ชาวอิตาเลียนได้รับรางวัลนี้ สะท้อนศักยภาพด้านการแพทย์ของอิตาลีให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ ทั้งยังได้ย้ำความพร้อมที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านแพทยศาสตรศึกษาระหว่างนักศึกษาไทย-อิตาเลียน
นอกจากนี้ ผู้แทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยังได้แสดงความขอบคุณและกล่าวว่าภูมิใจที่ชาวอเมริกันได้รับเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรตินี้ พร้อมย้ำไทย-สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดด้านการสาธารณสุขมาช้านาน ซึ่งสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและสานต่อความร่วมมือด้านนี้กับไทยต่อไป
โดยระยะเวลา ๓๑ ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม ๙๔ รายเป็นคนไทย ๔ ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ รับพระราชทานร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๓๙ และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ๑๐๐% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๕๒
และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน ๖ ราย ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน ได้แก่
รูปภาพประกอบ
วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุด) ระหว่างเวลา 09.00–13.00 น.
สอบถามรายละเอียดทางโทรศัพท์ ระหว่างเวลา 14.00- 17.00 น.
(โปรดตรวจสอบ เวลาให้บริการ ที่หน้า "ติดต่อเรา")