การบรรยายพิเศษจากผ้าไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม โดย ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

การบรรยายพิเศษจากผ้าไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม โดย ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 มี.ค. 2567

| 629 view
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้จัดการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับชุดไทยและผ้าไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยได้เรียนเชิญ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยในหลากหลายแขนงเป็นผู้บรรยาย โดยในการบรรยายครั้งนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายชุมชนไทยในเยอรมนี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับชุดไทยให้แก่ชุมชนไทยในเยอรมนี เพื่อจะสามารถเล่าเรื่องราวอันมีคุณค่าให้มิตรชาวเยอรมัน และชาวต่างชาติ ทราบและเข้าใจถึงขนบธรรมเนียมที่มีคุณค่าของไทย ตลอดจนเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันมีค่าในกลุ่มชุมชนไทยในเยอรมนี
 
นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานโดยย้ำถึงการแต่งกายของไทยที่มีมิติสะท้อนถึงการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน มีการรับเอาธรรมเนียมทางการทูตและการแต่งกายจากต่างประเทศมาใช้ มีการปรับเปลี่ยนและการแต่งกายแบบสากลที่ผสมผสานความเป็นไทยทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยส่งเสริมเป้าหมายด้านการต่างประเทศของไทย นอกจากนี้ ย้ำถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมความสามัคคีทางสังคม และปกป้องการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลางของอัตลักษณ์ของชุมชนทั่วโลก
 
ในการบรรยายฯ ผศ.ดร. อนุชาฯ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแต่งกายในแต่ละสมัย แนวปฏิบัติและงานช่างฝีมือที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนอิทธิพลของอารยธรรมภายนอกต่อการแต่งกายของคนไทย การผสมผสานการแต่งกายของไทยกับการแต่งกายของตะวันตกในช่วงจักรวรรดินิยม ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมทั้งพัสตราภรณ์กับการสร้างอัตลักษณ์ไทยในช่วงต่างๆ ตลอดจนแนวความคิดและจุดกำเนิดของชุดไทยพระราชนิยมทั้ง ๘ ชุด ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อการสวมใส่ในงานพิธีหรือในโอกาสต่างๆ ชุดไทยพระราชนิยมเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของไทย ซึ่งรัฐบาลของไทยอยู่ระหว่างการผลักดันให้บรรจุอยู่ในรายชื่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของ UNESCO

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ