เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๖ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ส่งมอบชุดเครื่องแต่งกายโขน พระ-นาง รวมทั้งวิดีทัศน์บรรเลงเพลงไทยเดิมด้วยวงปี่พาทย์ ๕ เพลง ได้แก่ เพลงสรรเสริญพระบารมี ลาวคำหอม ทยอยเขมร เขมรปี่แก้ว และลาวกระแซ ให้แก่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาและพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย กรุงเบอร์ลิน (Ethnologisches Museum and Museum of Asian Art, Berlin) โดยมี ศ.ดร. Lars-Christian Koch ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นผู้แทนรับมอบ โดยมีเอกอัครราชทูต ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจากหลายประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา เอกชน ทีมประเทศไทย ชาวไทยและชาวเยอรมันในกรุงเบอร์ลินเข้าร่วมกว่า ๗๐ คน
การจัดทำชุดโขนพระ-นาง ตามมาตรฐานนาฏศิลป์ไทย และวีดิทัศน์บรรเลงเพลงไทยเดิมด้วยวงปี่พาทย์ สืบเนื่องจากการที่นายธีรวัฒน์ ภูมิจิตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินได้หารือกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา กรุงเบอร์ลิน (Ethnologisches Museum) ที่ประสงค์จัดทำชุดเครื่องแต่งกายโขน พระ-นาง นำมาประกอบการจัดแสดงกระบอกเสียงเอดิสันชนิดไขขี้ผึ้งอ่อนสีน้ำตาล (Edison Phonograph, brown-blank wax cylinder) ที่ใช้อัดเสียงการบรรเลงดนตรีไทยของคณะนายบุศย์มหินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐) (ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕) เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีในรัสเซียและยุโรป) โดย Prof. Dr. Carl Stumpf ชาวเยอรมัน ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกและเก่าแก่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยขณะนี้กระบอกเสียงฯ ได้รับการจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เอเชีย
โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินโครงการสร้างความตระหนักรู้ถึงอัตลักษณ์ไทยใน กรุงเบอร์ลิน โดยจัดทำชุดเครื่องแต่งกายโขน พระ-นาง ขึ้น โดยมี ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดทำเครื่องแต่งกายโขนพระ -นาง เพื่อปูทางเป็นหนึ่งในกิจกรรมฉลองครบรอบ ๑๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งในพิธีมอบครั้งนี้ อ.สุรัตน์ฯ ได้ให้เกียรติเดินทางมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการแสดงโขนพระ- นาง รวมทั้งประวัติการแสดงของคณะนายบุศย์มหินทร์ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอขอบพระคุณมูลนิธิไทยที่ให้การสนับสนุนการเดินทางส่วนหนึ่งของอาจารย์สุรัตน์ฯ ในครั้งนี้
การส่งมอบชุดเครื่องแต่งกายโขน พระ-นาง ในครั้งนี้ เป็นการส่งมอบเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเยอรมนี และสอดรับกับการใช้นโยบาย soft power ของรัฐบาลในการกระชับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ชุดโขนพระ-นาง เป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดงโขนซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยที่มีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจดหมายเหตุของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การแสดงโขนเป็นการแสดงนาฏกรรมที่เป็นแหล่งรวมศิลปหลายแขนง เช่น โขนนำวิธีการเล่นและ วิธีการแต่งตัวมาจาก การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ (การทำพิธีกรรมในตำนานเรื่องพระนารายณ์ตอนกวนน้ำอมฤต) โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นมาจาก การรำกระบี่กระบอง (ศิลปการป้องกันตัวของไทย) โขนนำศิลปะการพากย์การเจรจาหน้าพาทย์เพลงดนตรี มาใช้ในการแสดง และโขนนำการช่างฝีมือมาใช้ในการทำฉาก และออกแบบเสื้อผ้า โขนนิยมนำบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง รามเกียรติ์ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤจิกายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศรับรองให้โขนไทยเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage) ภายใต้ชื่อ “Khon, masked dance drama in Thailand”