2,301 view

ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม

           ความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเยอรมนีสามารถนับย้อนไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรับผู้เชี่ยวชาญและวิทยาการจากเยอรมนีมาพัฒนาประเทศอาทิ นายคาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2449 โดยนายเดอห์ริง ได้เข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง และได้ออกแบบก่อสร้างอาคารต่างๆ สำหรับกรมรถไฟ และเป็นวิศวกรร่วมสร้างสถานีหัวลำโพงด้วย อีกทั้งนายเดอห์ริงยังได้ออกแบบก่อสร้างวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี วังวรดิศของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน ที่จังหวัดเพชบุรี นอกจากนี้ หลังคารูปโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชวังดุสิตยังผลิตจากโรงหล่อในเยอรมนีเเละขนส่งทางเรือมายังประเทศไทย

           ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเยอรมนีดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานศาลาไทยให้แก่เมืองบาด ฮอมบวร์ก ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้เสด็จฯ มาประทับรักษาพระองค์ที่เมืองบาด ฮอมบวร์ก ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองบาด ฮอมบวร์กได้ขุดพบบ่อน้ำแห่งใหม่ จึงได้ถวายบ่อน้ำแร่เป็นที่ระลึกและตั้งชื่อว่า “บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์” ต่อมา ในปี พ.ศ. 2452 เมืองบาด ฮอมบวร์ก แจ้งความประสงค์ที่จะจัดสร้างศาลาไทยครอบบ่อน้ำดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานแบบศาลาและสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างส่งไป อย่างไรก็ดี การสร้างศาลาไทยดังกล่าวแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2457 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 อันเนื่องมาจากวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนหนึ่งแตกหักเสียหายจากการขนส่งทางเรือ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการสร้าง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จไปทรงทำพิธีเปิด ทั้งนี้ ในปี 2550 หน่วยงานภาครัฐของไทย และเมืองบาด ฮอมบวร์ก ได้ร่วมกันสร้างศาลาไทยหลังใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้นำศาลาไทยหลังใหม่ไปตั้งไว้ ณ บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์และมีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550

           นอกจากนี้ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคณะดนตรีเอกชนเดินทางมาแสดงในยุโรป ซึ่งรวมถึงเยอรมนี โดยในปี พ.ศ. 2443 นายบุศย์มหินทร์ได้นำคณะศิลปินไทยกว่า 20 คนเดินทางมาเปิดการแสดงที่กรุงเบอร์ลิน ศาสตราจารย์ ดร. คาร์ล ชตุมฟ์ (Professor Dr. Carl Stumpf) ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งโครงการรวบรวมคลังข้อมูลเสียงแห่งสถาบันจิตวิทยา ได้ขอให้วงปี่พาทย์คณะนายบุศย์บันทึกเสียงการบรรเลงเพลงไทยลงกระบอกเสียงขี้ผึ้ง (Wax Cylinder) ณ สถาบันจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (Institute of Psychology at the University of Berlin) ซึ่งปัจจุบัน ต้นฉบับกระบอกเสียงดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เสียงกรุงเบอร์ลิน

           ความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเยอรมนีได้รับการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากศาลาไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เมืองบาด ฮอมบวร์ก อันนับเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศแล้ว ในปี พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานช้าง “พังผา” เพื่อเป็นของขวัญให้แก่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน เนื่องในโอกาสครบรอบ 750 ปีของกรุงเบอร์ลิน และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ โดยช้างพังผาได้ถูกส่งมายังเยอรมนีเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 และปัจจุบัน ยังคงอยู่ที่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน โดยพังผาเป็นช้างเอเชีย เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2530 ที่จังหวัดกาญจนบุรี ชื่อของพังผามีความหมายว่า ช้างเพศเมียที่มาจากผาสูงชัน โดยพังผาได้ให้กำเนิดลูกช้าง 4 เชือกแก่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน อย่างไรก็ดี ลูกช้าง 3 เชือกแรกเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อไวรัสเริมช้าง (EEHV) ลูกช้างเพียงเชือกเดียวที่ยังคงรอดชีวิตคือ พังอัญชลี (Anchali) ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

           นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ร่วมมือกับเมืองบาด ฮอมบวร์ก จัดงานเทศกาลไทย ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2531 และได้จัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยนับเป็นเทศกาลประจำปีที่สำคัญงานหนึ่งในเยอรมนี

           นอกจากงานเทศกาลไทยดังกล่าวแล้ว หน่วยงานต่างๆ และชุมชนไทยในเยอรมนีได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย การสาธิตงานฝีมือ เช่น การแกะสลักผักและผลไม้ การร้อยดอกไม้ รวมทั้งส่งเสริมศิลปินไทยในการแสดงความสามารถด้านดนตรีสากล อาทิ การแสดงโดยวงออเคสตราเยาวชน Siam Sinfonietta วงสวนพลูคอรัส วงโยธวาทิต Siam Symphonic Band และการแสดงดนตรีพื้นบ้านของไทย อาทิ การแสดงโดยวง E-sean Quartet ในงานเทศกาลศิลปินเยาวชนบายรอยด์

           ผู้กำกับภาพยนตร์ของไทยยังมีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงานเทศกาลภาพยนตร์สำคัญของเยอรมนี อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน หรือ Berlinale ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำของยุโรป จัดเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่กรุงเบอร์ลิน ที่ผ่านมา มีผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยเข้าประกวดในงานเทศกาลดังกล่าว อาทิ ภาพยนตร์เรื่องเด็กหอ โดยนายทรงยศ สุขมากอนันต์ ภาพยนตร์เรื่องคำพิพากษาของมหาสมุทร โดยนายเป็นเอก รัตนเรือง และมีภาพยนตร์ไทยที่เข้าร่วมฉายในงาน อาทิ ภาพยนตร์ สารคดีเรื่องหมอนรถไฟ โดยนายสมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ และล่าสุด ภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow โดยนายนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

           ในส่วนของเยอรมนี เยอรมนีได้ดำเนินงานด้านสังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทยผ่านสถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยส่งเสริมการเผยแพร่ภาษาเยอรมันในไทย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยการจัดกิจกรรมในด้านต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี การละคร วรรณกรรม เป็นต้น รวมถึงมีโครงการทุนสนับสนุนการแปลหนังสือภาษาเยอรมันเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงภาษาไทย เพื่อสนับสนุนสำนักพิมพ์ต่างประเทศในการตีพิมพ์วรรณกรรมเยอรมันเพื่อให้ผู้อ่านต่างชาติได้เข้าถึงวรรณกรรม หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนและหนังสือสารคดี และงานวิชาการที่สำคัญ

           นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 รัฐบาลเยอรมันได้สนับสนุนการอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณสถานสำคัญในประเทศไทย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยสนับสนุนการอนุรักษ์หนังสือใบลานที่จารึกด้วยลายมือให้เป็นการบันทึกในระบบดิจิทัล และยังได้สนับสนุนโครงการอนุรักษ์วัดราชบูรณะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2555 ภายหลังอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่สร้างความเสียหายแก่วัดราชบูรณะอย่างมาก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
มกราคม 2564