2,191 view

ความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง

ประวัติความสัมพันธ์ไทยกับเยอรมนี

           ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับเยอรมนีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Amity, Commerce and Navigation with Prussia, in the name of the German Customs and Commercial Union) หรือสนธิสัญญาออยเลนบวร์ก โดยระหว่างปี พ.ศ. 2426 – 2498 ไทยกับเยอรมนีได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 ไทยได้จัดตั้งสถานอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินเป็นครั้งแรก เมื่อเยอรมนีได้แบ่งออกเป็นสองประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอดีตเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด ภายหลังเมื่อเยอรมนีได้รวมประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว ไทยได้ย้ายสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ไปยังกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542 พร้อมกันนั้น ได้จัดตั้งสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุงบอนน์ขึ้น ซึ่งได้ปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ทดแทนสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และ ครม.อนุมัติให้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ทดแทนสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมิวนิก (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ความสัมพันธ์ทางการทูต) (หมายเหตุ คลิ๊กข้อความแล้วจะลิงค์ไปที่หน้าเว็บไซต์ส่วนความสัมพันธ์ทางการทูต)

ความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์และประมุขของรัฐ

           ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีในระดับราชวงศ์และประมุขของรัฐมีความใกล้ชิดและมีส่วนเกื้อหนุนให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีมีความแน่นแฟ้นอย่างยิ่ง ตลอดจนยังเสริมสร้างความร่วมมือที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาเพื่อนำความรู้และวิทยาการมาพัฒนาประเทศ อาทิ
           – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (“พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม”) ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยชั้นต้นเมืองพอตส์ดัม (Potsdam) และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงที่เมืองโกรส-ลิกเทอร์เฟลเดอร์ (Groß-Lichterfelde) ซึ่งเป็นพื้นที่ในกรุงเบอร์ลินในปัจจุบัน และทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเสนาธิการแห่งเยอรมนี
           – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (“พระบิดาของวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมแห่งประเทศไทย”) ทรงเริ่มศึกษาระดับมัธยมที่เมืองฮัลเบอร์ชตัดส์ (Halberstadt) และทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก (Heidelberg) สาขากฎหมายและการศึกษา รวมทั้งได้ทรงเข้าเรียนวิชาเกี่ยวกับการแพทย์เป็นการส่วนพระองค์ด้วย ทรงสมรสกับหม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา (สกุลเดิม ชาร์นแบร์เกอร์/ Elisabeth Scharnberger) สตรีชาวเยอรมัน
           – พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (คนไทยคนแรกที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นเจ้านายพระองค์แรกและเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่จบการศึกษาในวิชาระดับปริญญาเอก) ทรงศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิวนิก และหลังจากนั้นทรงสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทือบิงเก่น (Tübingen)
           – สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (“พระบิดาแห่งการแพทย์”) ทรงศึกษาวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้นเมืองพอตส์ดัม (Potsdam) และศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยชั้นสูงที่เมืองโกรส- ลิกเทอร์เฟลเดอร์ (Groß-Lichterfelde) ซึ่งเป็นพื้นที่ในกรุงเบอร์ลินในปัจจุบัน ทรงสำเร็จวิชาทหารบกด้วยคะแนนดีมาก แล้วจึงทรงเข้าศึกษาทหารเรือต่อที่ Imperial German Naval College ที่เมืองเฟลนส์บวร์ก เมือร์วิค (Flensburg Mürwik) โดยทรงสอบได้ที่ 1 และทรงได้รับการประดับยศเรือตรีแห่งกองทัพเรือเยอรมัน ในปีสุดท้าย ทรงชนะการประกวดการออกแบบเรือดำน้ำ ทรงรับราชการในกองทัพเรือเยอรมันเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะเสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2468 ทรงเสด็จกลับยุโรปอีกครั้ง เพื่อทรงศึกษาการแพทย์ สาขากุมารเวชศาสตร์ ที่เมืองไฮเดลแบร์ก (Heidelberg) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ได้เสด็จพระราชสมภพในเมืองนี้เมื่อปี พ.ศ. 2468
           นอกจากนี้ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีของพระบรมวงศานุวงศ์ได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้น การเสด็จเยือนเยอรมนีขององค์พระประมุขของไทย ได้แก่
           – พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2440 ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก และในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2450 ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2
           – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อวันที่ 2 – 25 กรกฏาคม พ.ศ. 2477 ในคราวเสด็จประพาสยุโรป
           – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2503 และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พ.ศ. 2509
           – สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนรัฐแซกโซนี (Saxony) และรัฐบาวาเรีย (Bavaria) เมื่อวันที่ 9 – 13 เมษายน 2540
           – สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2550
การเยือนไทยในระดับประมุขรัฐของเยอรมนีได้มีส่วนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นใกล้ชิดเช่นกัน ได้แก่
           – นายเฮนริค ลืบเค่ (Heinrich Lübke) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505
           – นายคาร์ล คาร์สเทนส์ (Karl Carsten) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2527
           – นายริชาร์ด ฟอน ไวซ์เซคเคอร์ (Richard von Weizsäcker) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2536
           – นายโยฮันเนส เรา (Johannes Rau) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2545

ความสัมพันธ์ระดับการเมือง

           ไทยกับเยอรมนีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงของรัฐบาลสม่ำเสมอ โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาล ดังนี้

ฝ่ายไทย
           – วันที่ 8 – 10 มีนาคม พ.ศ. 2538 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามคำเชิญของนายเฮลมุท โคห์ล (Dr. Helmut Kohl) นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
           – วันที่ 17 – 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 150 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เยอรมนี
           – วันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนางอังเกลาร์ แมร์เคล (Dr. Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ฝ่ายเยอรมนี
           – วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 นายเฮลมุท โคห์ล นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
           – วันที่ 1 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2539 นายเฮลมุท โคห์ล นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซม (Asia-Europe Meeting – ASEM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ
           – วันที่ 26 ตุลาคม 2560 นายคริสเตียน วุลฟฟ์ (Christian Wulff) อดีตประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะผู้แทนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ทั้งนี้ ผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศได้รับรองข้อมติซึ่งมีสาระสำคัญในการฟื้นการมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทยและย้ำความสำคัญที่สหภาพยุโรปให้ต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศไทย นอกจากนี้ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปยังได้ชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรปด้วย
           อนึ่ง ไทยมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทยกับเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญประเทศหนึ่งของสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืนต่อไป