วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.พ. 2566

| 17,175 view

ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา

ไทยกับเยอรมนีมีความสัมพันธ์ด้านการศึกษามายาวนาน มีนักเรียนไทยหลายต่อหลายรุ่นที่มาศึกษาเล่าเรียนในเยอรมนี และได้นำวิชาความรู้ในสาขาต่างๆ กลับไปพัฒนาประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงส่งพระราชโอรสหลายพระองค์มาศึกษาที่เยอรมนีเพื่อให้นำความรู้และวิทยาการสมัยใหม่กลับไปพัฒนาประเทศ อาทิ
           – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเสนาธิการแห่งเยอรมนี
           – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเริ่มศึกษาระดับมัธยมที่เมืองฮัลเบอรชตัดท์ (Halberstadt) และทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เมืองไฮเดลแบร์ก (Heidelberg) สาขากฎหมายและการศึกษา รวมทั้งได้ทรงเข้าเรียนวิชาเกี่ยวกับการแพทย์เป็นการส่วนพระองค์ด้วย
           – พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ทรงศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิวนิก (Munich) จากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทือบิเงน (T?bingen) โดยทรงเป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกและเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่จบการศึกษาในวิชาระดับปริญญาเอก
           – สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยที่เมืองพอทสดัม (Potsdam) และทรงศึกษาวิชาทหารต่อที่มหาวิทยาลัยทหาร ที่ตำบลโกรสลิชเทอร์เฟลเดอ (Gross-Lichterfelde) กรุงเบอร์ลิน จากนั้น ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือที่ M?rwik Imperial German Naval Academy ที่เมืองเฟลนซ์บวร์ก (Flensburg) โดยทรงสอบได้ที่ 1 และทรงได้รับการประดับยศเรือตรีแห่งกองทัพเรือเยอรมัน อีกทั้งในขณะทรงศึกษาอยู่ ทรงชนะการประกวดการออกแบบเรือดำน้ำด้วย ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการในกองทัพเรือเยอรมันเป็นเวลา 3 ปี ก่อนเสด็จนิวัติประเทศไทย และในปี 2468 ทรงเสด็จกลับมาเยอรมนีเพื่อทรงศึกษาการแพทย์ สาขากุมารเวชศาสตร์ ที่เมืองไฮเดลแบร์ก (Heidelberg) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ เสด็จพระราชสมภพ ที่เมืองดังกล่าวในปี 2468

ความร่วมมือด้านการศึกษา

           เยอรมนีจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่เข้มแข็งและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีหลักสูตรอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ความโดดเด่นในฐานะประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นจุดสนใจให้นักเรียนต่างชาติจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย มาศึกษาในเยอรมนี
           ระบบการศึกษาของเยอรมนี มุ่งเน้นให้เด็กมีการพัฒนาไปตามวัย และความถนัดของแต่ละบุคคลโดยในระดับปฐมวัย (ก่อนเริ่มการศึกษาภาคบังคับในระดับประถมศึกษา) เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จนถึง 6 ปี สามารถเข้าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งจะเน้นกิจกรรมการเล่น ร้องเพลง ระบายสี และงานประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาทักษะตามวัย
           เยอรมนีกำหนดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี เริ่มเมื่อเด็กอายุ 6 ปี จะเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา (Grundschule) เป็นเวลา 4 ปี เมื่อจบชั้นเรียนที่ 4 เด็กๆ จะเรียนต่อชั้นมัธยมในโรงเรียนแบบต่างๆ แบ่งตามความเข้มข้นของวิชาการและการปฏิบัติในหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งมี 4 รูปแบบ ได้แก่ Hauptschule Realschule Gymnasium และ Gesamtschule
           – โรงเรียนแบบ Hauptschule เป็นโรงเรียนมัธยมที่สอนความรู้ทั่วไป ตั้งแต่ชั้นเรียนที่ 5-9 (เทียบเท่ากับชั้น ป. 5 – ม. 3 ของไทย) โดยเมื่อจบชั้นเรียนที่ 9 จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น เรียกว่า Hauptschulabschluss และนักเรียนสามารถเลือกเรียนชั้นเรียนที่ 10 ได้ตามความสมัครใจ สำหรับโรงเรียนแบบ Realschule จะมีหลักสูตรเรียนตั้งแต่ชั้นเรียนที่ 5-10 (เทียบเท่าชั้น ป. 5 – ม. 4 ของไทย) ซึ่งนักเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรที่เรียกว่า Realschulabschluss โดยนักเรียนสามารถเข้าเรียนต่อในโรงเรียนฝึกอาชีพได้
           – โรงเรียนแบบ Gymnasium เป็นโรงเรียนมัธยมที่เน้นด้านวิชาการ จะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Sekundar Stufe I) ตั้งแต่ชั้นเรียนที่ 5-10 และระดับเตรียมอุดมศึกษา (Sekundar Stufe II) ตั้งแต่ชั้นเรียนที่ 11-13 เมื่อจบการศึกษา จะมีการสอบที่เรียกว่า Abitur ซึ่งผลสอบสามารถนำไปสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้
           – สำหรับโรงเรียนแบบ Gesamtschule เป็นโรงเรียนมัธยมแบบประสม ซึ่งรวมโรงเรียนแบบ Hauptschule แบบ Realschule และแบบ Gymnasium เข้าด้วยกัน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเรียนที่ 5-13 เด็กที่เรียนที่นี่สามารถเลือกเรียนชั้นมัธยมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และหากเห็นว่าไม่เหมาะกับความสามารถของตน ก็อาจย้ายไปเรียนในรูปแบบอื่นที่เหมาะกับตัวเองแทนได้
           สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเยอรมนีแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัย (Universit?t) เน้นการเรียนการสอนทางด้านทฤษฎีในหลักสูตรด้านแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (2) มหาวิทยาลัยที่เน้นภาคปฏิบัติ (Fachhochschule) เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นในทางปฏิบัติ โดยจะสอนเพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในอุตสาหกรรมมากกว่าการทำวิจัย (3) วิทยาลัยศิลปะและการดนตรี (Kunst- und Musikhochschule) ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนสาขาวิชาได้ตามความถนัด เช่น จิตรกรรมการแสดง นาฏศิลป์ การออกแบบ การดนตรี ภาพยนตร์ เป็นต้น
           สำหรับการเรียนสายอาชีพ (Berefsausbildung) ผู้เข้าเรียนต้องมีความรู้จบประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น จะเป็นการเรียนภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับภาคปฏิบัติ คือ เรียนในโรงเรียนอาชีวะ (Berufschule) ซึ่งจะสอนวิชาการและวิชาเฉพาะเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ และเรียนภาคปฏิบัติ คือ ฝึกงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงานที่รับเป็นผู้ฝึกอบรม โดยการเรียนในสายอาชีพนี้ ผู้เรียนจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทหรือห้างร้านที่ไปฝึกงาน โดยจะใช้เวลาเรียนประมาณ 2-3 ปี
           ด้วยจุดเด่นของระบบการศึกษาของเยอรมนีดังกล่าว ไทยจึงส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับเยอรมนีเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากเยอรมนี โดยเฉพาะในด้านที่เยอรมนีมีความโดดเด่น ตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การสนับสนุนของเยอรมนีในการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2502 ซึ่งได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในปัจจุบัน อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการของไทยยังได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานของเยอรมนีในสาขาการศึกษาทวิภาคี (dual system) ซึ่งเป็นระบบการอาชีวศึกษาที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจแล้ว 4 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนระบบทวิภาคีในประเทศไทย
           นอกจากนี้ “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีในด้านการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้ริเริ่มดำเนินการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของไทย โดยมีความร่วมมือกับมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย (Stiftung Haus der kleinen Forscher) ของเยอรมนี ซึ่งดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนครูและนักการศึกษาในด้านเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนที่เน้นการสืบเสาะหาความรู้ (inquiry-based learning) โดยได้นำกิจกรรมดังกล่าวมาทดลองดำเนินการในประเทศไทย
           “โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี” (DESY Summer Student Programme) เป็นความร่วมมือด้านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา โดยเป็นโครงการที่ให้ทุนแก่นักศึกษาไทยในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4 ในระดับปริญญาตรี หรือในชั้นปีที่ 1-2 ในระดับปริญญาโท เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติการวิจัยร่วมกับเยาวชนประเทศอื่น เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อนของยุโรป โดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ไปทำงานในห้องปฏิบัติการของสถาบันสถาบัน Deutsches Electronen-Synchrotron หรือ DESY ที่นครฮัมบูร์ก ตามสาขาที่เลือกตามความถนัด ซึ่งได้แก่ การทดลองทางฟิสิกส์ของอนุภาคมูลฐาน การทดลองที่ใช้แสงซินโครตรอน การวิจัยเครื่องเร่งอนุภาค ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐาน และการคำนวณด้านฟิสิกส์พลังงานสูง
           ในส่วนของเยอรมนี องค์การแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst: DAAD) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทย และสนับสนุนทุนการศึกษาและการวิจัยสำหรับนักศึกษาและนักวิชาการของไทย โดย DAAD ได้เริ่มดำเนินการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยการส่งอาจารย์ภาษาเยอรมันมาสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากนั้น ได้ขยายขอบเขตภารกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การจัดอาจารย์มาสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน มีอาจารย์จาก DAAD สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย 4 แห่งของไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาและวิจัยในเยอรมนี และการจัดสรรทุนการศึกษาแก่อาจารย์และนักวิจัยจากไทยปีละกว่า 300 ทุน ตลอดจนการสนับสนุนโครงการความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลเยอรมัน-อุษาคเนย์ (German Southeast Asian Centre of Public Policy and Good Governance หรือ CPG) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น
           นอกจากนี้ ในเยอรมนี ยังมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาไทยศึกษา (Thai Studies) และภาษาไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก (Hamburg University) มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ท (Humboldt University) มหาวิทยาลัยพัสเซา (Passau University) และมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต (Goethe University Frankfurt) รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (South East Asia Studies) อาทิ มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ก (Freiburg University) ด้วย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
มกราคม 2564