งานสัมมนาและวัฒนธรรมไทย Thai Tag 2024 – Sustainable Development in Thailand: Social and Cultural Paths ที่มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค

งานสัมมนาและวัฒนธรรมไทย Thai Tag 2024 – Sustainable Development in Thailand: Social and Cultural Paths ที่มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 มิ.ย. 2567

| 1,189 view
งานสัมมนาและวัฒนธรรมไทย Thai Tag 2024 – Sustainable Development in Thailand: Social and Cultural Paths ที่มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค
 
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ร่วมกับสถาบันเอเชียและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค จัดงานสัมมนาวิชาการและวัฒนธรรมไทยประจำปี ๒๕๖๗ หรืองาน Thai Tag 2024 ภายใต้หัวข้อ Sustainable Development in Thailand: Social and Cultural Paths ณ สถาบันเอเชียและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค โดยมีนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน นางสาวประเพ็ญพิมพ์ ประจนปัจจนึก กงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก นายณัฐพงศ์ ลัทธพิพัฒน์ กงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต นาย Stefan Krohn กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำนครฮัมบวร์ค คณาจารย์และนักศึกษาด้านไทยศึกษา ภาษาไทย และเอเชียตะวันออกศึกษาในเยอรมนี เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน
 
ในการกล่าวเปิดงานฯ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองของไทยรวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมื่อปี ๒๕๖๖ และการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนีมีพลวัตสูงในระยะที่ผ่านมา ดังจะเห็นจากการเยือนระดับสูงและการเติบโตทางการค้าระหว่างกัน การมุ่งพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยื่น นอกจากนี้แสดงความขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึง T(h)ai Studies Network Germany (TSNG) ที่มีส่วนสนับสนุนให้ไทยศึกษา ภาษาไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในเยอรมนีให้มีความเข้มแข็งและต่อเนื่อง พร้อมย้ำการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อการเรียนการสอนไทยศึกษา ภาษาไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในเยอรมนี
 
ในช่วงการอภิปรายทางวิชาการ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ. ดร. Hermann Waibel จากมหาวิทยาลัยLeibniz Universität Hannover ได้บรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำการวิจัยด้านการพัฒนาในประเทศไทยจากแง่มุมของนักวิชาการชาวเยอรมัน ดร. Nicolas Revire จาก Art Institute of Chicago ได้ให้ทัศนะอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาต่ออารยธรรมต่างๆ และการสร้างรัฐในดินแดนสุวรรณภูมิ ดร. Tony Walters จากมหาวิทยาลัย Leuphana Universität Lüneburg ได้ให้ความรู้ด้านพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ในสังคมไทย โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคุณศิริอร อารมย์ดี นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษจากกระทรวงยุติธรรม ได้บรรยายและให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและกลไกการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในประเทศไทย
ภายหลังการอภิปรายทางวิชาการในช่วงเช้า เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน พร้อมกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก กงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงเฟิรต์ นาย Stefan Krohn กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ประจำนครฮัมบวร์ค และศาสตราจารย์ Volker Grabowsky ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการส่งมอบหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยจำนวน ๑๔๖ เล่ม ให้แก่ห้องสมุดสถาบันเอเชียและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค เพื่อจัดตั้ง Thailand Corner ซึ่งเป็นมุมหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะแง่มุมสังคมและวัฒนธรรม สามารถศึกษาหาความรู้ได้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นข้อริเริ่มของมูลนิธิไทย (Thailand Foundation) ซึ่งได้ให้การอนุเคราะห์จัดซื้อหนังสือตามความประสงค์ของมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ค
 
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก ได้ร่วมจัดกิจกรรม “Career Opportunities and Scholarship in Thailand” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการศึกษาต่อของนักศึกษาเยอรมันในประเทศไทย ตลอดจนแนวทางการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตในประเทศไทยสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาไทยศึกษาในเยอรมนี กิจกรรมฯ ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร ได้แก่ นาย Martin Jandke ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท the Board Factory ในประเทศไทย (เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์) นาย David Schlensak นักศึกษาและ Youtuber ชาวเยอรมัน ซึ่งพำนักอาศัยในประเทศไทย และนาง Ulrike Moser หัวหน้าแผนกราคาและการวางแผนการขาย บริษัท Rolls-Royce Motor Cars Limited ในเครือ BMW โดยมี ผศ. ดร. Benjamin Baumann มหาวิทยาลัย Heidelberg เป็นผู้ดำเนินรายการ ในส่วนของโอกาสทางการศึกษาต่อในประเทศไทย ได้รับเกียรติจากนายศรัณย์ วัชราภัย ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนทุนมนุษย์นานาชาติ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาบรรยายและให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ Thailand Scholarship ซึ่งเปิดโอกาสทางด้านทุนการศึกษาให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศไทยในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป
 
นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมประกวดการอ่านร้อยกรองภาษาไทย โดยนักศึกษาที่เรียนภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม โดยผู้ชนะได้แก่นางสาว Sarah Thouard จากมหาวิทยาลัย Humboldt กิจกรรม Book Launch ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์และการแสดงนาฏศิลป์และวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ได้มีการประกาศผู้ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์เครือข่ายไทยศึกษาในเยอรมนี (T(h)ai Studies Network Germany-TSNG) โดย นายกฤตภาส บุญประเสริฐ เป็นผู้ชนะเลิศ โดยผลงานได้แรงบันดาลใจจากลายจักสานตะกร้า ซึ่งสื่อความหมายถึงการสร้างเครือข่ายของไทยศึกษาที่พัฒนาไปสู่สิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่ามากขึ้น รองชนะเลิศลำดับที่ ๑ ได้แก่นางสาวกรกนก เขตหนองบัว รองชนะเลิศลำดับที่ ๒ ได้แก่นางสาว Diana Ulbrich โดยเครือข่าย TSNG จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๐๒๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายและจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนไทยศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเยอรมนี ผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ ยังมีโอกาสจับฉลากชิงรางวัลของที่ระลึกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครแฟรงก์เฟิร์ต อีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ