วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.ย. 2567
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "ปัญญาประดิษฐ์กับการเรียนการสอนภาษาไทยในเยอรมนี" จัดโดยสมาพันธ์ครูสอนภาษาไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ส.ค.ท.ย.) ในห้วงการประชุมสามัญประจำปี ๒๕๖๗ ของ ส.ค.ท.ย. ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ กันยายน ๒๕๖๗ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า ๓๕ คน รวมถึงครูผู้สอนภาษาไทยทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร. ประเวทย์ จันทรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสอนภาษาไทยและภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์ระวีวรรณ บุนนาค ผู้อบรมภาษาไทยให้แก่ชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์กว่า ๒๐ ปี ครูโดดเดี่ยว เอมพบ ครูสอนภาษาไทยจากเว็บเพจ Thai-lernen-lauterstein.de/ผู้เขียนหนังสือ Thai dabei และครูจรินนา คอมซท์เฮอฟท์ เจ้าของเฟสบุคส์เพจ Thai-Lernen-Koeln เข้าร่วมด้วย
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้แสดงความชื่นชม ส.ค.ท.ย. ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของครูผู้สอนภาษาไทยทั้งครูจิตอาสาและครูผู้สอนระดับผู้ใหญ่ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของ AI ที่สามารถช่วยสนับสนุนการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสื่อการสอน การออกเสียง หรือการเขียน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนจากกลุ่มเป้าหมายที่ขยายตัวในเยอรมนี
สมาพันธ์ครูสอนภาษาไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ส.ค.ท.ย.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในเยอรมนี รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนและพัฒนาบุคลากรในการเรียนการสอนในสถาบันที่มีการเรียนการสอนภาษาไทย โดยการสัมมนาฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความพร้อม และเข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ของครูสอนภาษาไทยในต่างประเทศ และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรภาษาไทยตามเกณฑ์สมรรถภาพทางภาษายุโรป การสร้างสื่อการสอนที่มีคุณภาพและเหมาะสม
รูปภาพประกอบ
วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุด) ระหว่างเวลา 09.00–13.00 น.
สอบถามรายละเอียดทางโทรศัพท์ ระหว่างเวลา 14.00- 17.00 น.
(โปรดตรวจสอบ เวลาให้บริการ ที่หน้า "ติดต่อเรา")